พลังบ้านปู ฟื้นฟูทะเลไทย

พลังบ้านปู ฟื้นฟูทะเลไทย: โมเดลจัดการขยะเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำบางปะกง
ประเทศไทยพึ่งพาทะเลในด้านประมงและการท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน แต่กลับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขยะไหลลงทะเลมากที่สุด โดยข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ในปี 2565 มีขยะจากแม่น้ำสายหลัก เช่น บางปะกงและเจ้าพระยา ไหลลงสู่อ่าวไทยกว่า 1,000 ตัน และสูงถึง 2,500 ตันในปี 2561
โครงการพลังบ้านปู ฟื้นฟูทะเลไทย
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในโครงการความร่วมมือจัดการขยะทะเล ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อสนับสนุนแผนแม่บทการจัดการขยะทะเลระดับชาติ โดยได้ริเริ่มโครงการ “พลังบ้านปู ฟื้นฟูทะเลไทย” ดำเนินงานในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่าง ครอบคลุม 3 อำเภอ 14 ตำบลในจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่ปี 2566 – 2569
สถานการณ์ขยะในพื้นที่
นายนริศ นิลประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลท่าข้าม เปิดเผยว่า ขยะมูลฝอยในพื้นที่สะสมกว่า 3,000-6,000 ตันต่อปี หรือประมาณ 500 ตันต่อเดือน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตของชุมชน แม้มีการรณรงค์คัดแยกขยะและจัดตั้งธนาคารขยะ แต่ยังขาดแคลนทรัพยากรและความร่วมมือที่ครอบคลุม
โมเดลจัดการขยะทะเล 6 มิติ
โครงการ “พลังบ้านปู ฟื้นฟูทะเลไทย” ได้นำ โมเดลการจัดการขยะทะเล 6 มิติ มาปรับใช้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ได้แก่:
- การมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง – ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และอาสาสมัคร
- การจัดการขยะต้นทาง – ส่งเสริมความรู้การคัดแยกขยะและธนาคารขยะ ลดขยะกว่า 4.5 ตัน
- การเก็บกู้ขยะในแหล่งน้ำ – ติดตั้งทุ่นดักขยะ 7 จุด ในคลองสาขาของแม่น้ำบางปะกง และจัดกิจกรรมจิตอาสา เก็บขยะรวม 5.7 ตัน
- การสร้างความตระหนัก – จัดศึกษาดูงานและกิจกรรมให้ความรู้แก่ชุมชนและเยาวชน
- การบริหารจัดการข้อมูล – วิเคราะห์ข้อมูลขยะเพื่อนำไปวางแผนและพัฒนาโครงการ
- การสร้างเครือข่าย – เชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ เพื่อขยายผลโครงการและนำองค์ความรู้มาปรับใช้
ผลลัพธ์และแผนขยายโครงการ
จากการดำเนินงานทำให้ปริมาณขยะในพื้นที่ตำบลท่าข้ามลดลง 40% จาก 500 ตัน/เดือน เหลือ 300 ตัน/เดือน ในปี 2566

นายสุทธิโรจน์ มงคลสินพงศ์ คณะทำงานโครงการพลังบ้านปู ฟื้นฟูทะเลไทย ระบุว่า บ้านปูมีแผนขยายโมเดลการจัดการขยะให้ครอบคลุม 14 ตำบลในฉะเชิงเทรา รวมถึงพัฒนา นวัตกรรม Trash Sweeper สำหรับเก็บกู้ขยะในลำคลองที่มีการสัญจรทางน้ำ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้งานจริงในปี 2568
นายนริศ นิลประสิทธิ์ กล่าวเสริมว่า “โครงการนี้ไม่เพียงช่วยจัดการขยะ แต่ยังส่งเสริมความรู้ให้ชุมชน และเป็นต้นแบบที่ดีในการจัดการขยะทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ”
ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการบ้านปูรวมพลัง ฟื้นฟูทะเลไทย ได้ทางเฟซบุ๊กเพจ https://www.facebook.com/Banpuofficialth




#พลังบ้านปู #TalkTown